วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

อุเบกขา ให้เชื่อกรรมผลของกรรม (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

อุเบกขา ให้เชื่อกรรมผลของกรรม (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

อุเบกขาคือ ภาวะของจิตที่มีอาการเป็นกลางเห็นเสมอกันในสัตว์ บุคคลทั้งหลาย ในคราวทั้งสองคือในคราวประสบสมบัติ และในคราวประสบวิบัติ ไม่ยินดียินร้าย มองเห็นว่าทุกๆ คนมีกรรมที่ทำไว้เป็นของของตน จะมีสุข จะพ้นทุกข์ จะไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้เพราะกรรม จึงวางเฉยได้ คือวาง ได้แก่ไม่ยึดถือไว้ วางลงได้ เฉย คือไม่จัดแจงวุ่นวาย ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมหรือตามกำหนดของกรรม อุเบกขานี้เป็นพรหมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่ง เป็นข้อสุดท้าย ที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต วิธีอบรม คือ ระมัดระวังใจมิให้ขึ้นลง ด้วยความยินดียินร้าย ทั้งในคราวประสบวิบัติ เมื่อภาวะของจิตเช่นนั้นเกิดขึ้น ก็พยามระงับใจ หัดคิดถึงกรรมและผลของกรรมรับผิดชอบเอาไปเสีย เมื่อทำจิตให้อุเบกขาได้ ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่นโดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจงทั่วไปด้วยความคิดว่า “ทุกสัตว์ บุคคล มีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทรับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย ทำกรรมอันใด ดีหรือชั่ว ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น” อันที่จริงภาวะของจิตเป็นอุเบกขานี้ ย่อมมีอยู่เป็นสามัญธรรมดาในเวลาปรกติยังไม่มีอะไรมาทำให้เกิดความยินดียินร้าย แต่ยังเจือด้วยความไม่รู้ (อัญญาณ) และจะเปลี่ยนไปเป็นความยินดียินร้ายขึ้นได้โดยง่าย พระบรมครูสั่งสอนให้ปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละให้เป็นธรรมขึ้น คือ ให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิใช่ในเวลาที่ไม่มีเรื่องอะไรมากระทบจิตเท่านั้น แม้มีเรื่องมากระทบจิตให้ยินดียินร้ายก็ระงับได้ ทำใจให้สงบเป็นอุเบกขาได้ด้วยความรู้ (ญาณ) เพราะว่าความยินดี (ราคะ) และความยินร้าย (ปฏิฆะ) เป็นศัตรูที่ห่างของอุเบกขา ส่วนอุเบกขาด้วยความไม่รู้ (อัญญาณุเบกขา) เป็นศัตรูที่อยู่ใกล้ของอุเบกขา ฉะนั้น ก็พึงยกตนขึ้นเป็นพยานหรืออุปมา ดังเช่นว่า ตนไม่ชอบให้อื่นมาเล็งชอบใจอยากได้อะไรของตน และไม่ชอบให้ใครอื่นมาหมายมั่นปองร้าย ฉันใด ตนก็ไม่ควรจะไปคิดยินดียินร้ายดังนั้นแก่คนอื่น ควรจะมีใจมัธยัสถ์คือเป็นกลางฉันนั้น
: ศีลและพรหมวิหาร ๔ : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ที่มา : http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=16366

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น