วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

โบสถ์พราหมณ์ เทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์







วัตถุมงคลของโบสถ์พราหมณ์...เทวสถานแห่งนี้แม้จะมีประวัติการก่อสร้างและคงอยู่มายาวนานควบคู่กับพระนครหลวงของเรา ก็หาได้เคยสร้างเครื่องมงคลอันใดให้เป็นที่แพร่หลายไม่ เหตุเพราะไม่มีความจำเป็นอะไรประการหนึ่ง และเพราะขึ้นตรงต่อสำนักพระราชวังในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประการหนึ่ง ดังนั้น การทำสิ่งใดจึงต้องรอบคอบและถูกถ้วนเสมอ เพื่อมิให้กระทบกระเทือนถึงเบื้องพระยุคลบาทได้ฉะนั้น แต่ไหนแต่ไรตลอด 220 ปีมานี้ ทุกพิธีกรรม ทุกวัตถุมงคลที่สร้างล้วนเป็นไปเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายแด่องค์พระประมุขและพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะถึงแก่ประชาชนได้
นอกจากการเปิดเทวสถานให้เข้าไปสักการะองค์เทพเฉพาะในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น เพียงสองวันเท่านั้นข่าวที่ผมรับทราบจากโทรทัศน์เคยมีว่าคณะพราหมณ์ได้สร้างเทวรูปพระพรหมทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างเทวรูปพระตรีมูรติทองคำทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเทวรูปพระนารายณ์ทองคำทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นต้นผมอนุโมทนาอยู่เงียบ ๆ คนเดียวจวบจนปีหนึ่งรู้สึกจะเป็น พ.ศ. 2539 คณะพราหมณ์นำโดยพระราชครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ได้ทำการสร้างเทวรูปพระพิฆเนศวรเนื้อนวโลหะหน้าตัก 9 นิ้วขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตอนนี้เองที่สายฝนแห่งบุญกุศลได้โปรยปรายตกต้องถึงประชาชนชาวสยามด้วยคณะพราหมณ์มีมติให้สร้างเทวรูปพระคเณศขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว 5 นิ้ว และ 9 นิ้วให้ประชาชนบูชาด้วย จำได้เลา ๆ ว่าหน้าตัก 9 นิ้วองค์ละหนึ่งหมื่นสองพันบาทหรือยังไงนี่แหละราคาค่อนข้างสูงเพราะศิลปะที่งดงามจำลองจากองค์จริงในเทวสถานได้เหมือนสุด ๆ อีกทั้งเนื้อหาชนวนมวลสารยังเป็น นวโลหะ ทุกองค์พูดถึงการปรุงเนื้อพระกระแสต่าง ๆ แล้วย่อมหมดสงสัยได้แม้เป็นคณะพราหมณ์ เพราะในสมัยแห่งการเทพระกริ่งยังเฟื่องฟูอยู่ในยุคแห่งองค์สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) วัดสุทัศน์เทพวรารามนั้น ก็ได้พราหมณ์แห่งเทวสถานนี้แลเป็นผู้คำนวณฤกษ์ บวงสรวงเทวดาฟ้าดิน บูชาพระเกตุ บูชาฤกษ์ ประกาศสังเวยเทวดา และร่วมอยู่ในพิธีเททองจนเสร็จสิ้น จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการประกอบพิธีพุทธาภิเษก ซึ่งก็พราหมณ์ที่นี่อีกจัดตั้งราชวัติฉัตรธงโยงสายสิญจน์ร่วมกันในพิธี ตลอดจนทำน้ำเทพมนต์โดยพราหมณ์ควบคู่กับการทำน้ำพระพุทธมนต์โดยสงฆ์ไม่รู้กี่ครั้งกี่วาระจนตกทอดเรื่อยมาถึงสมัยแห่ง พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร) พระศรีสัจจญาณเถร (ประหยัด ปัญญาธโร) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จันทสิริ) เป็นอาทิแล้วอย่างนี้จะไม่ให้พราหมณ์ที่นี่เก่งกล้าสามารถอย่างไรได้ มีหลักฐานปรากฏชัดว่าคณะพราหมณ์แห่งเทวสถานได้ศึกษาหาความรู้แลกเปลี่ยนวิชากันในสายวัดสุทัศน์ ฯ ยุคต้น นับแต่สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวัฒโน) พระอุปัชฌาย์ในสมเด็จพระสังฆราชแพ เรื่อยมาจนถึงท่านเจ้าคุณประหยัดอันเป็นศิษย์ในสมเด็จพระสังฆราชแพรุ่นเล็กนวโลหะน่ะหรือ ?ที่นี่ก็ทำเป็น ไปชมได้เลยกับโลหะธาตุ 9 ชนิดที่ตั้งแสดงไว้ในโบสถ์พระศิวะครั้นออกพระคเณศนวโลหะให้บูชาเป็นสมบัติทั่วกัน โดยไม่ต้องประกาศใด ๆ ไม่กี่เพลาก็หมดไปจากเทวสถานอย่างรวดเร็ว แม้เจ้าหน้าที่หรือพราหมณ์ในเทวสถานเองก็ยังไม่ทันได้บูชาเก็บไว้เป็นสมบัติตน เห็นชัดถึงความเชื่อถือในเครดิตของคณะพราหมณ์ที่นี่และเลื่อมใสในมหิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้าที่ประทับในโบสถ์พราหมณ์ก็ที่นี่เป็นโบสถ์พราหมณ์อายุสองร้อยกว่าปีอบอวลด้วยพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ไม่รู้กี่ร้อยพันหมื่นพิธี ผู้ประกอบพิธีเป็นพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายและรับวิชามาอย่างถูกต้องตามโบราณาจารย์วางแบบไว้ เป็นผู้ชำนาญในฤกษ์และวันอันมงคล ชาญในพระเวทที่อาจเข้าเฝ้าเหล่าเทพเจ้าเบื้องบนได้โดยผ่านทางพิธีกรรมเช่นนี้แล้วก็ไม่มีอะไรให้สงสัยแว่วมาว่าโบสถ์พราหมณ์อาจจัดสร้างพระคเณศเป็นรุ่นที่สองด้วยทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มีในเทวสถานแห่งนี้ก็เป็นภาระอันใหญ่ที่ผู้ดูแลต้องขวนขวายหามารักษา ทั้งเรื่องของ น้ำประปา โทรศัพท์ ความชำรุดทรุดโทรมของสถานที่ซึ่งมีอายุถึง 220 ปีอันต้องคอยบูรณะกันอยู่เสมอ พิธีกรรมที่ต้องประกอบด้วย ผลไม้ ดอกไม้ ธูป เทียน สายสิญจน์ และอีกจิปาถะซึ่งคนเคยทำพิธีหรือเคยอยู่ในพิธีจะรู้ดีว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงใดไม่ใช้เงินจะใช้อะไร...?เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ถ้าจะว่าไปก็คือหน่วยงานราชการเล็ก ๆ หน่วยหนึ่ง ผมไม่ทราบหรอกว่าเรื่องปัจจัยปรุงแต่งภายในของเขาจะเป็นอย่างไร ทราบเพียงว่า แต่ไหนแต่ไรคำว่าหน่วยงานราชการถ้าไม่สำคัญจริงแล้วงบประมาณเป็นอันว่าได้น้อยเหลือกำลังต่อจากนั้นแล้วจงขวนขวายช่วยตนเองเถิด
ในปี พ.ศ. 2545 นี้โบสถ์พราหมณ์ต้องขวนขวายช่วยเหลือตัวเองครั้งใหญ่ ด้วยปรากฏว่าโบสถ์ทั้งสามหลังมีความชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก อีกทั้งเครื่องบนของตัวโบสถ์ก็ไม่แน่ว่าจะอยู่ในสภาพที่ดีพอหรือไม่ เพราะตลอดสองร้อยกว่าปีไม่เคยได้ปฏิสังขรณ์กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวดังนั้น เทวสถานจึงทำเรื่องแจ้งไปยังสำนักพระราชวังถึงการนี้ ทางสำนักฯ ก็มอบปัจจัยมาจำนวนหนึ่งซึ่งแน่นอนว่าไม่พอกับการบูรณะ เทวสถานจึงต้องหาปัจจัยเพื่อการซ่อมแซมโดยวิถีอื่นอีกในที่สุดก็มีช่องทาง เมื่อทำการรื้อกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ทั้งสามหลังลงมาแล้วพบว่ากระเบื้องหลายแผ่นแตกร้าวชำรุดเป็นอันมาก จำต้องล้างแล้วคัดแยกนำกระเบื้องที่ดีกลับไปใช้ใหม่ ส่วนที่แตกร้าวก็มีมติให้นำมาป่นเป็นผงละเอียดเพื่อสร้างเป็นพระพิมพ์ของมหาเทพทั้งสามองค์เพราะเหตุใด ?ก็กระเบื้องดังว่านั้นมีอายุถึงสองร้อยกว่าปี ทำมาแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทีเดียว ซ้ำยังผ่านพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มานับร้อยนับพันพิธี อบอวลด้วยพระเวทและมนตรานับไม่ถ้วนบทที่เหล่าพราหมณ์สาธยายเป็นเทวบูชา พร้อมทั้งพิธีเทวาภิเษกที่จัดอย่างมโหฬารไม่รู้อีกกี่พิธีอัญเชิญเทพพรหมทั่วท้องจักรวาลความศักดิ์สิทธิ์ย่อมซึมซับไปทั่วทุกแห่งหนในอาณาบริเวณที่กำหนดไว้ว่าเป็น เทวาลัย คือที่อาศัยแห่งเทพหรือเขตแห่งเทวดานั่นแล
ดูแต่กระเบื้องวัดไร่ขิงนั่นปะไร รื้อลงมากองทิ้งอยู่ข้างโรงลิเกอย่างไม่รู้จะกำจัดอย่างไรดี อยู่ ๆ มามีคนขี้เมาชักปืนออกยิงเล่นกลับกระสุนด้านเสียนี่ นึกว่าบังเอิญเลยหิ้วไปยิงต่อที่บ้านทำยังไงก็ยิงไม่ออก พอดังเข้าคนก็ลุยจนเละร้อนถึงทางวัดต้องเข้ามาคุมเห็นค่ากันล่ะทีนี้เอามาป่นทำพระเสียแหละดี ความที่มีกระเบื้องเยอะทุกวันนี้ก็ยังมีพระให้เช่ากันที่วัดไร่ขิง องค์ละยี่สิบบาทเอง ทำเป็นพระเครื่องแล้วยิ่งมีอานุภาพ มีประสบการณ์กันน่าดู ไปวัดไร่ขิงเมื่อไรฟังกันเพลินทีเดียว ถามชาวบ้านดูเถิดว่าคุณวิเศษในหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้นมีเท่าไร เล่าสามวันสามคืนก็ไม่หมดเห็นไหมล่ะ
อานุภาพกระเบื้อง รมมนต์ โบสถ์พราหมณ์เขาก็มีพิธีไม่ต่างกัน ดังนั้น เมื่อทำพระเครื่องเป็นครั้งแรกในชีวิตย่อมต้องพิเศษและยิ่งใหญ่ไม่ให้เสียชื่อคณะพราหมณ์ผู้ชาญพระเวทและเป็นเจ้าแห่งพิธีกรรมปฐมเหตุเริ่มที่เทวสถานทำการปฏิสังขรณ์โครงหลังคาโบสถ์ทั้งสามหลังและเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาอายุ 218 ปีในบางส่วน คือแยกคัดล้างเอาแผ่นที่ดีกลับขึ้นไปใช้งานต่อ ในแผ่นที่แตกร้าวชำรุดซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ก็นำมาบดเป็นผงละเอียดปรุงร่วมกับมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ทางเทวสถานมีเพื่อการทำเป็นพระพิมพ์กำหนดว่าจักแกะพิมพ์ขึ้น 3 รูปแบบ ประกอบด้วยพิมพ์รูปเหมือนของ พระศิวะ พระนารยณ์ และ พระพิฆเนศวร โดยมอบให้ อาจารย์บุญส่ง นุชน้อมบุญ อาจารย์กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบพระพิมพ์ และในวันขึ้นแบบแม่พิมพ์ตรงกับวันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2545 อันเป็นวันธงชัยตามหลักโหราศาสตร์
ได้อาราธนาพระอาจารย์สิงทน นราสโภ วัดพระพุทธชินราช พุทธชิโนฮิลล์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มานั่งปรกเป็นปฐมฤกษ์และขณะที่ขึ้นแบบนั้นพราหมณ์ก็ได้ทำพิธีบวงสรวงบูชาฤกษ์พร้อมกันเมื่อบล็อคและมวลสารครบถ้วนจึงได้ทำการประสมเนื้อกดพระทั้งสามพิมพ์ตามฤกษ์ยามที่กำหนด ระหว่างนั้นก็เตรียมการประกอบพิธีเทวาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่มโหฬารซึ่งหลายท่านอาจไม่ทราบ เพราะทางเทวสถานไม่ได้ประชาสัมพันธ์หนักหน่วงดังเช่นวัดวาต่าง ๆ อย่างที่เราพึงคุ้นหูนับว่าดีไปอย่าง ด้วยการประกอบพิธีที่เป็นไปอย่างเงียบเชียบไม่อึกทึกวุ่นวายย่อมทำสมาธิให้เกิดกับผู้ประกอบพิธีทุกท่าน แม้ผู้อยู่ร่วมพิธีก็ยังสัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งครอบคลุมในทุกอณูของบรรยากาศกำหนดการมหาเทวาภิเษกได้จัดขึ้นตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ถึง วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 รวม 4 วัน 4 คืน โดยก่อนประกอบพิธีเทวาภิเษกนั้น ท่านพระราชครูวามเทพมุนีหัวหน้าคณะพราหมณ์ได้นำพระพิมพ์ทั้งสามแบบ แบ่งแยกกันลงบรรจุเป็นลำดับชั้นในตู้แก้วใบมโหฬารนับได้สามตู้ทำไมต้องแยก...?เพราะเทพเจ้าทั้งสามองค์ย่อมต้องได้รับการปลุกเสกและประกอบพิธีกรรมโดยวิธีการแลพระเวทอันพึงสวดซึ่งต่างกัน ต่างแม้กระทั่งน้ำที่จะสรง ดอกไม้ที่จะโปรย ใบไม้ที่จะบูชา...ละเอียดประณีตดีไหม !!เรื่องสุกเอาเผากินหรือทำอย่างลวก ๆ ลน ๆ ไม่สามารถมีได้ในกลุ่มพราหมณ์ที่ทรงภูมิรู้แท้จริง ที่สำคัญเป็นผู้สนองงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสียด้วยต้องรู้ให้จริง...ต้องทำให้เป็น...และในตู้ทั้งสามใบใช่จะเป็นเพียงตู้ใส่พระพิมพ์ก็เปล่า หากบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ถือว่าเป็นมหามงคลอย่างเอกอุ เพื่อหวังผลในความชุ่มชื่นเยือกเย็นและเบิกบาน น้ำเป็นสิ่งที่ให้ชีวิต ทุกสรรพสิ่งถ้าขาดน้ำก็ตาย ศาสนาพราหมณ์มีความเชื่ออันหนึ่งว่าน้ำเป็นสิ่งที่ชำระทุกข์โทษและบาปได้ แต่น้ำนั้นจำเป็นต้องมาจาก...แม่น้ำคงคาด้วยเชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นสายน้ำที่ไหลมาจากมวยผมแห่งพระศิวะ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์เพราะไหลมาจากภูเขาหิมาลัยที่ชาวฮินดูศรัทธาว่าเป็นจุดตั้งเขาไกรลาส ทิพยวิมานของพระศิวะนั่นเองไม่ต้องบอกก็รู้ว่าพระราชครูวามเทพมุนีได้เดินทางไปอัญเชิญน้ำจากแม่น้ำคงคาในประเทศอินเดียมาด้วยตัวเอง เทลงผสมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์อีกสองแหล่งคือ น้ำมนต์สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 220 ปีหรือน้ำมนต์นครฐานสูตร (นะคะระฐานะสูตร) และ น้ำเทพมนต์อายุ 100 ปีของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เองการแช่น้ำมนต์นั้นมิได้แช่เพียงแค่วันสองวัน ทว่าบรรจุอยู่อย่างนั้นนับแต่วันลงแช่ครั้งแรกคือวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคมจนตลอดพิธีกรรม 4 วัน 4 คืน และแม้พิธีเทวาภิเษกแล้วเสร็จก็ยังไม่ได้นำขึ้นหากปล่อยให้เอิบอาบอย่างนั้นอยู่ในโบสถ์อีก 2 วัน จึงทยอยกู้ขึ้นมาทีละตู้เริ่มแต่พระคเณศ พระศิวะ พระนารายณ์ เป็นลำดับ และอบไว้ในโบสถ์อีก 7 ราตรีนี่แหละ ! แช่น้ำมนต์ของจริงพิธีในวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เริ่มขึ้นแต่เช้ามืดในเวลา 05.30 น. อันเป็นอุดมมงคลฤกษ์ โดยพระราชครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสิพราหมณกุล) เป็นผู้ประกอบพิธีบูชาฤกษ์และบวงสรวงเทพเจ้าเหล่าพรหมตลอดทั่วทั้งสามแดนโลกธาตุ อัญเชิญท่านผู้วิเศษมาอำนวยพรให้การประกอบพิธีเป็นไปโดยราบรื่นและศักดิ์สิทธิ์ทุกขั้นตอนวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เริ่มพิธีในเวลา 09.00 น. โดยคณะพราหมณ์จากอินเดียใต้ซึ่งประจำอยู่ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) ทำพิธีบวงสรวงมหาเทพทั้งสามพระองค์ และพระแม่ศักตีเพื่อขอพรจากพระองค์ให้วัตถุมงคลมีอานุภาพไพศาล จากนั้นจึงเริ่มประกอบพิธีเทวาภิเษกตามแบบฉบับของพราหมณาจารย์ในอินเดียตอนใต้ ซึ่งเครื่องบูชาในพิธีของพราหมณ์จากวัดพระศรีมหาอุมาเทวีนี้ นับว่าสวยงามอลังการมาก ดูเข้มขลังทรงอานุภาพ น่าศรัทธาอย่างยิ่งยวด สมเป็นสาวกของพระแม่อุมาปารวตีผู้ทรงไว้ซึ่งอานุภาพและอิทธิฤทธิ์อย่างยากจะหาเทพนารีองค์ใดมาเทียบเทียม ขนาดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ เสด็จเตี่ย ก็ยังทรงให้ความเคารพเป็นล้นพ้น ต้องนำภาพวาดรูปเหมือนพระแม่อุมาเทวีขนาดใหญ่ยักษ์ประดิษฐานไว้กราบไหว้บูชาในพระตำหนักดำ อันเป็นสถานที่เก็บเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงและใช้ประกอบพิธีกรรมในพระองค์ ชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะแม่นาคก็ทรงเก็บไว้ที่นี่เช่นกันผมได้ยินมามากรายที่กล่าวขานถึงอานุภาพในองค์พระอุมาเทวี โดยผู้ยกย่องนั้นล้วนเป็นผู้ทรงภูมิในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านเหล่านั้นได้พบเจอพระอุมาโดยสมาธิอย่างไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ก็สรรเสริญว่าเป็นเทพชั้นสูงมีบารมีมาก โดยเฉพาะทางอิทธิฤทธิ์เชิงบู๊อย่างคงกระพันกันเขี้ยวงานี่ฉมังนัก ไว้มีโอกาสผมจะเล่าสู่กันฟังพิธีเทวาภิเษกในวันนี้ดำเนินอย่างยาวนานและสิ้นสุดลงในเวลา 20.00 น. เป็นอันว่าจบสมบูรณ์ในส่วนของพราหมณ์จากอินเดียตอนใต้วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เริ่มพิธีในเวลา 15.00 น. โดยบัณฑิต วิทยาธร สุกุลพราหมณ์ และ พราหมณ์จากอินเดียตอนเหนือ ทำพิธีบวงสรวงมหาเทพในศาสนาทั้งหมดโดยเฉพาะ พระศิวะ พระนารายณ์ และ พระคเณศ ผู้เป็นเจ้าของงาน โดยจัดพิธีกองกูณฑ์อัคคีหรือการบูชาไฟ เผากำยาน น้ำมันเนย อัญเชิญเทพเจ้าลงมาร่วมพิธี ประกอบพิธีสรงน้ำผ่านใบไม้มงคลประจำองค์เทพเจ้า โดยพระศิวะสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ผ่านใบมะตูม พระนารายณ์สรงผ่านใบต้นตุลสี (ต้นกะเพรา) และพระคเณศสรงผ่านใบหญ้าคา ซึ่งในขั้นตอนนี้เองที่มีเรื่องอัศจรรย์เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์นี้สายตามนุษย์เช่นเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่อาจแลเห็น หากเลนส์กล้องซึ่งมีความไวแสงสูงกลับจับภาพประหลาดบางอย่างได้คือ
ขณะที่พราหมณ์กำลังทำพิธีสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ผ่านใบมะตูมในหลัวไม้ไผ่อยู่นั้น เกิดมีหมอกควันสีขาวสะอาดลอยครอบคลุมร่างกายของพราหมณ์ทุกท่านไว้ และพาดผ่านเป็นแนวยาวไปจนถึงตู้ที่บรรจุพระพิมพ์อยู่ ซึ่งตู้ที่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังสรงและใบมะตูมที่น้ำกำลังผ่านนั้น...เป็นตู้พระศิวะ !!เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ในสามโลก เทพบดีผู้ปกครองหมู่เทพที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และเทวาธิราชผู้เป็นเจ้าของโบสถ์หลังที่กำลังประกอบพิธีนี่อาจเป็นประจักษ์พยานที่หนึ่งซึ่งจะกล่าวได้หรือไม่ว่า พระมหาเทพได้ลงมาร่วมในพิธีสมดังคำสวดอ้อนวอน อำนวยพรให้พระพิมพ์มีผลานุภาพเป็นไปตามที่ผู้บูชาอธิษฐาน และถ้าพยานปากที่หนึ่งนี้ทุกท่านว่ายังมีน้ำหนักไม่พอ อีกสักครู่ผมจะพาท่านไปพบพยานปากที่สองครั้นบวงสรวงแล้วเสร็จจึงประกอบพิธีเทวาภิเษกตามแบบอย่างบูรณาจารย์ของอินเดียตอนเหนือ จบพิธีลงอย่างสมบูรณ์ในเวลา 18.30 น.
วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 จัดพิธีมหามังคลา-เทวาภิเษกโดยนิมนต์พระเถรานุเถระที่ทรงวิทยาคุณมาร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก ทั้งนี้ได้จัดให้มีการสวดพุทธาภิเษกตามแบบอย่างที่ถูกต้องในทางสงฆ์ดังเช่นที่วัดสุทัศน์ ฯ ได้ถือปฏิบัติมา มีกำหนดการดังนี้1. นิมนต์พระธรรมยุติเจริญพระพุทธมนต์ และ สวดมังคลาภิเษก โดยพระปฏิบัตินั่งปรก2. นิมนต์พระมหานิกายเจริญพระพุทธมนต์ และ สวดมังคลาภิเษก โดยพระปฏิบัตินั่งปรก3. นิมนต์พระรามัญเจริญพระพุทธมนต์ และ สวดมังคลาภิเษก โดยพระปฏิบัตินั่งปรกเริ่มพิธีในเวลา 10.01 น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เป็นองค์ประธานจุดเทียนชัยและคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารสวดคาถาจุดเทียนชัย เจริญพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตรเต็มบท เสร็จพิธีในส่วนนี้ก็ถวายภัตตาหารเพล จากนั้นประธานพิธีถวายเครื่องไทยธรรม คณะสงฆ์กล่าวอนุโมทนา กรวดน้ำเวลา 13.00 น. คณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายจากวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์เจ็ดตำนาน ประธานสงฆ์จุดเทียนพุทธาภิเษก พระพิธีธรรม 4 รูปจากวัดสุทัศน์เทพวรารามสวดพุทธาภิเษก พระมหาเถระนั่งปรก 2 รูป คือ
1. พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ) วัดป่าสำราญนิวาส อ. เกาะคา จ. ลำปาง หลวงปู่หลวงนี้เป็นศิษย์ในสายท่านพระอาจารย์มั่นองค์หนึ่งที่ทรงภูมิธรรมและอำนาจจิตเป็นอย่างสูง สิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านมากคือ ชานหมาก อันเป็นของว่างที่ท่านเคี้ยวแล้วทิ้ง หากผู้ศรัทธาที่เก็บไปบูชาเกิดมีประสบการณ์อัศจรรย์กับคำหมากท่านมากมาย ได้ยินมาว่าแม้รถที่กำลังจะคว่ำยังเห็นหลวงปู่ไปช่วยประคองไว้มิให้คว่ำได้ และในรถคันนั้นก็มีชานหมากอยู่คำหนึ่งหมากเป็นของที่เคี้ยวประเดี๋ยวประด๋าวไม่นานนักก็คาย ถ้าทำของทิ้งให้มีอานุภาพขึ้นมาได้ภายในเวลา ชั่วเคี้ยวหมากแหลก ก็อย่าไปสงสัยเลยหากท่านผู้นั้นจะตั้งใจเสกวัตถุมงคลด้วยเวลา 2 ชั่วโมงจะดีแค่ไหนคงต้อง ใช้ ดูเอง
2. พระปัญญาพิศาลเถร (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล) วัดอนาลโย ต. ต๋อม อ. เมือง จ. พะเยา บอกได้เต็มปากอย่างไม่ต้องเกรงใจกันเลยว่า ผมดีใจที่สุดเมื่อเห็นรายชื่อและรูปหลวงพ่อไพบูลย์มาร่วมอธิษฐานจิต เพราะผมถวายเครดิตแก่ท่านในพิธีนี้อย่างสุดส่วนเต็มขั้วหัวใจ พร้อมกันนั้นก็นึกสรรเสริญผู้นิมนต์พระว่า ช่างตาถึง และเก่งเหลือเกิน ขอบคุณจริง ๆเพราะอะไร ?โธ่ ! คุณ เราสร้างพระอะไร รูปบูชาของใคร ถ้าคนฉลาดย่อมต้องหาผู้เสกที่ควรกัน เรียกว่าท่านทั้งสองฝ่ายรู้จักกัน นับถือกัน เช่น พ่อหลวงสงฆ์ จันทสโร วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จ. ชุมพร ควรที่จะเสกพระบรมรูปของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพราะ เสด็จเตี่ย เคารพท่าน แม้มีแต่ดวงพระวิญญาณยังไปต่อว่าพ่อหลวงสงฆ์ว่า “ผ่านบ้านแต่ไม่แวะเยี่ยมเลยนะ” บ้านดังท่านว่าก็คือศาลที่หาดทรายรี จ.ชุมพรนั่นเอง ภายหลังหน่วยงานราชการสร้างเหรียญกรมหลวงชุมพรได้นิมนต์พ่อหลวงสงฆ์เสกที่ใต้กระบอกปืนใหญ่เรือหลวงชุมพร นี่เรียกว่าควรหรืออย่างเจ้าแม่กวนอิม ที่ต้องเสกโดยหลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ วัดประดู่ฉิมพลี อันนี้ก็ควร ด้วยท่านทั้งสองเคยพบเจอกันในนิมิตจากนั้นก็ติดต่อกันเสมอ เรื่องนี้จะฟังให้มันส์ต้องฟังอาจารย์เบิ้มเล่า หรือพระพรหมที่หากเป็นหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก อยุธยา อธิษฐานจิตก็เป็นอันว่าลงใจสนิท ฤาษีต้องเป็นหลวงปู่พรหมา เขมจาโร วัดสวนหินฯ กุมารทองต้องหลวงพ่อเต๋ คังคสุวัณโณ วัดสามง่าม ดังนี้เป็นต้น เพราะท่านเหล่านี้...เป็นคู่บารมีกันลองสับกันสิ เอาฤาษีไปให้หลวงปู่ดู่เสกก็เสร็จ ท่านจับบวชพระหมด เอากุมารทองไปให้หลวงปู่โต๊ะท่านก็บ่นพึม ก็ท่านไม่ใช่คู่กันฉันใดก็ดี หลวงพ่อไพบูลย์ก็ฉันนั้น ผมไม่อาจเล่าเท้าความได้ถึงการพบเจอพระศิวะมหาเทพและพระพิฆเนศวรเทพแห่งวิทยาการในองค์หลวงพ่อไพบูลย์ ด้วยเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันไปถึงสถาบันระดับสูงของประเทศชาติ แต่เมื่อพูดถึงตรงนี้ใครที่เคยได้ฟังจากหลวงพ่อย่อมต้องร้องอ๋อทันทีและถือว่าเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ที่สุดเรื่องหนึ่งบอกตรงนี้ดัง ๆ เลยว่า หลวงพ่อไพบูลย์เป็นพระมหาเถระที่ทรงอภิญญาระดับสูง อย่างหาผู้เปรียบได้ยาก คนติดรูปเมื่อเห็นวัดท่านอาจถอยศรัทธาด้วยสวยเกินไปแต่อย่าลืมมอง ข้างในหลวงพ่อไพบูลย์องค์นี้ผมยืนยันกับทุกท่านเลยว่าเป็นองค์หนึ่งที่เคยพบเจอพระศิวะมานับครั้งไม่ถ้วน พระศิวะผูกพันกับหลวงพ่อมาก เห็นจะเป็นด้วยบุรพกรรมที่ร่วมสร้างกันมา มหาเทพพระองค์นี้เคยช่วยหลวงพ่อในกิจต่าง ๆ มากครั้งด้วยกัน แต่ละวาระเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ชวนขนหัวลุกสำหรับผู้ไม่ประสาเช่นผมเป็นเครื่องยืนยันถึงความมีอยู่จริงของเทพองค์นี้อยากบอกว่ามิใช่เพียงหลวงพ่อเท่านั้นที่เคยเกี่ยวข้องกับพระศิวะ แม้องสรภาณมธุรสหรือท่านบ๋าวเอิง แห่ง วัดสมณานัมบริหาร (วัดญวณสะพานขาว) ก็เคยได้สัมผัสพระศิวะมาแล้ว หรือสตรีนักปฏิบัติธรรมที่อัฐิกลายเป็นพระธาตุอย่างมหาอุบาสิกาบุญเรือน โตงบุญเติม วัดอาวุธ-วิกสิตาราม ก็เคยข้องเกี่ยวกับพระศิวะเทพเช่นกันโดยที่ท่านเหล่านี้ไม่ได้ถือว่าพระศิวะเป็นสรณะอันเกษมสูงสุดไปกว่าพระรัตนตรัย หากเป็นผู้ร่วมทางในการบำเพ็ญธรรมที่ควรเกื้อกูลกันต่างหากนี่คือสิ่งที่ท่านมองแม้พระคเณศก็เช่นเดียวกัน เป็นอะไรที่หลวงพ่อไพบูลย์ได้พบปะกันบ่อย ๆ จนที่วัดยังต้องมีรูปเคารพพระคเณศให้คนแปลกใจว่าทำไมหลวงพ่อจึงนำสิ่งที่มิใช่พระพุทธศาสนาเข้าวัดเรื่องภพชาติเป็นของละเอียดเกินจะอธิบายใครจะล่วงรู้ได้ว่าใครเคยเกิดเป็นพ่อแม่พี่น้องบุตรธิดากันมาก่อน หากมิใช่ผู้ทรงญาณหยั่งรู้โดยทางปฏิบัติภาวนา เอาเป็นว่าหลวงพ่อไพบูลย์รู้จักและเคารพนับถือกันเป็นอย่างดีกับพระศิวะและพระพิฆเนศวร เมื่อท่านมาประกอบพิธีเสกถึง บ้าน ของมหาเทพทั้งสอง จงอย่าสงสัยถึงความศักดิ์สิทธิ์และความสำเร็จผลในการเสกเลย ท่านต้องติดต่อให้ทั้งสองพระองค์มาร่วมเสก ร่วมรับทราบแน่นอน ไม่ใช่หลับหูหลับตาเสกอย่างเสกพระพุทธหรือตะกรุดเครื่องรางก็แล้วกันเวลา 17.00 น. พระสงฆ์มหานิกายจากวัดสุทัศน์เทพวราราม จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ พระพิธีธรรมจากวัดสุทัศน์ ฯ 4 รูป สวดพระทิพยมนต์ และ มหาสมัยสูตร อันเป็นพระสูตรที่เหล่าเทพยดาโปรดปรานยิ่งนัก
และมีพระมหาเถระในมหานิกายนั่งปรก 3 รูป ดังนี้
1. พระครูวินัยวัชรกิจ (หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม) วัดตาลกง ต. มาบปลาเค้า อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี หลวงพ่ออุ้นเป็นศิษย์ในหลวงพ่อทองสุข ธัมมโชโต วัดโตนดหลวง ซึ่งเป็นพระเถระที่เรืองวิชาอย่างมาก ในเมืองเพชรบุรีและปริมณฑลยุคก่อน ใครจะศึกษาไสยเวทพุทธาคมล้วนต้องมุ่งหน้าไปวัดโตนดหลวงทั้งสิ้นหลวงพ่อทองสุขมีวิชาอาคมที่เข้มขลังยิ่งนัก เป็นพระภิกษุรูปเดียวที่มีหลักฐานว่าได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ลงอักขระกระหม่อมของในหลวงองค์ปัจจุบัน ถือเป็นเกียรติประวัติแก่หลวงพ่ออย่างมาก หลวงพ่ออุ้นได้รับวิชามาหลายแบบด้วยกัน โดยเฉพาะการลงตะกรุดโทนด้วยยันต์ครู การลบผงพระจันทร์ครึ่งซีกอันเป็นมหานิยมอย่างสุดยอด ฯลฯ รวมไปถึงความเมตตาที่หลวงพ่อมีให้ผู้ไปกราบอย่างเสมอภาคทุกคน ทำให้ท่านเป็นที่เคารพรักในศิษย์ทุกระดับชั้นข่าวขลังแห่งท่านปรากฏเมื่อราวปี 2540 เมื่อคนถูกยิงแบบเผาขนแต่กระสุนไม่ลั่น ถ้าจำไม่ผิด ยิง 3 นัด ออก 1 นัด แต่ไม่เข้า เป็นผลให้เหรียญรุ่นแรกที่มีราคาออกจากวัดไม่กี่บาทพุ่งพรวดเป็นหลักพัน ผมเรียนถามท่านถึงเหตุการณ์นี้ท่านได้แต่ยิ้ม ๆ อย่างไม่อยากคุยถึงความเก่งของตัวเองเป็นพระที่กราบได้สนิทใจองค์หนึ่งรีบไปเสียนะเมื่อเห็นหลวงพ่ออุ้นมาร่วมเสกพระชุดนี้ผมก็ยิ่งมั่นใจ นอกเหนือไปจากที่หลวงพ่อจะเก่งจริงแล้วยังเป็นเรื่องทางใจ คือท่านไม่รังเกียจเรื่องของเทพเจ้าเหล่าพรหม พระสงฆ์บางรูปไม่ชอบเรื่องเทวดา บางทีเลยไปถึงไม่เชื่อว่าเทพองค์นั้น- องค์นี้จะมี ก็ป่วยการเชิญท่านมาเสก แต่เป็นหลวงพ่ออุ้นแล้วผมมั่นใจแนบไฟล์
2. พระครูปราสาทพรหมคุณ (หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ) วัดเพชรบุรี ต. ทุ่งมน อ. ปราสาท จ. สุรินทร์ หลวงปู่หงษ์เป็นพระผู้เฒ่าที่แตกฉานในไสยศาสตร์ทุกกระบวน สมเป็นพระที่สืบเชื้อสายจากชาวเขมรที่เลื่องลือว่าเป็นเอกในไสยวิชา ผมยังไม่เคยเห็นใครทำคงกระพันได้อย่างท่าน นั่นคือยิงโดนหน้าอกแล้วไม่เข้าอันนี้ไม่แปลกเห็นกันทั่วไป แต่ที่ลูกปืนกระทบหน้าอกแล้ววิ่งอ้อมไปตกด้านหลังนี่นับว่าน่าตื่นตะลึง ไม่รวมมหาอุดหยุดปืน แคล้วคลาด และมหากำบังที่ท่านทำได้อย่างไม่น่าเชื่อท่านเป็นอีกองค์หนึ่งที่ไม่รังเกียจเรื่องเทวดา หนำซ้ำยังผูกพันให้ความเคารพไม่ดูหมิ่นกันอีกด้วย ท่านนับถือพระคเณศว่าเป็นครูมีเรื่องแปลกที่ควรบันทึกไว้ซึ่งผมว่าน่าชื่นใจสำหรับผู้จัดพิธีนี้และผู้เลื่อมใส กล่าวคือการประกอบพิธีเทวาภิเษกนั้นได้จัดขึ้นที่โบสถ์ใหญ่ซึ่งเป็นเทวาลัยของพระศิวะ ขณะที่หลวงปู่หงษ์กำลังปลุกเสกอยู่นั้นเอง ท่านเห็นชายคนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่เกินมนุษย์ยืนกางขาคร่อมโบสถ์เอาไว้เหมือนอย่างจะแสดงแสนยานุภาพ เมื่อท่านกำหนดดูก็รู้ทันทีว่าบุรุษลึกลับผู้มาอย่างปาฏิหาริย์นี้คือพระศิวะทว่าท่านมิได้บอกเล่าเรื่องนี้ในเทวสถานแต่อย่างใด หากเล่าแก่ศิษย์คนสนิทคือคุณป๋องให้ฟังภายหลังว่า“เจ้าของโบสถ์เขาก็มา มายืนคร่อมอยู่อย่างนี้” ซึ่งคุณป๋องก็ได้นำมาบอกเล่าให้คุณหนุ่ยเจ้าหน้าที่โบสถ์พราหมณ์คนหนึ่งฟังอย่างเลื่อมใสเป็นพยานอีกองค์หนึ่งว่าพระศิวะมีตัวตนและนี่คือพยานที่สองในเรื่องของโบสถ์พราหมณ์หลวงปู่ไม่เล่าในวันงานนั้นนับว่าดี มิฉะนั้นคนอาจมองว่าท่านพูดอย่างเอาใจเจ้าภาพ แต่เมื่อท่านเล่าให้คนกันเองฟังภายหลัง ผมว่าสิ่งที่ท่านเห็นท่านต้องมั่นใจจริง ๆ ผมก็มั่นใจท่านเช่นกัน
3. พระอาจารย์สิงทน นราสโภ วัดพระพุทธชินราช พุทธชิโนฮิลล์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ท่านพระอาจารย์องค์นี้ผมไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารของท่านมากนัก ด้วยท่านอยู่ไกลจากผมพอสมควร แต่เคยได้ยินกิตติคุณในท่านอยู่เหมือนกันว่าท่านเก่ง เอาไว้ผมได้สัมผัสท่านอย่างใกล้ชิดเมื่อไรจะกลับมาบรรยายกัน
อีกทีเวลา 21.00 น. พระรามัญจากวัดปรก จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ พระพิธีธรรมรามัญจำนวน 4 รูป สวดภาณวาร พระรามัญนั่งปรกจำนวน 4 รูป
1. พระสมุห์ชำนาญ อุตตมปัญโญ วัดบางกุฎีทอง ต. บางกระดี่ อ. เมือง จ. ปทุมธานีผมเคยได้ยินชื่อเสียงท่านจากเพื่อนฝูงหลายคนว่าท่านเก่งและรอบรู้ในเวทย์มนต์คาถาไม่น้อย ถือได้ว่าเป็นพระอาจารย์รุ่นใหม่ที่ขึ้นมาทดแทนองค์เก่าซึ่งมรณภาพจากไปองค์แล้วองค์เล่า หมู่พวกที่ใส่พระของท่านมีประสบการณ์มาเล่าให้ฟังไม่ขาดปากเหมือนกัน แม้จะไม่หวือหวาแต่ก็เรียกน้ำย่อยแห่งศรัทธาได้ไม่เบา
2. พระครูปลัดวีรวัฒน์ ชยธัมโม วัดปรกยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพมหานคร
3. พระครูปราโมทสารคุณ วัดบางตะไนย์
4. พระครูเมตตาธรรมคุณ วัดโพธิ์เลื่อนและในเวลา 01.10 ประธานสงฆ์ก็ทำพิธีดับเทียนชัยเป็นอันเสร็จพิธีมหามังคลา-เทวาภิเษกโดยสมบูรณ์อย่างไม่มีใดต้องติ สมบูรณ์ทั้งฝ่ายพราหมณ์ที่อัญเชิญให้เทพเจ้าลงอำนวยพรประทานความศักดิ์สิทธิ์ สมบูรณ์ทั้งฝ่ายพุทธที่บรรจุพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และความเป็นเมตตา มหาเสน่ห์ มหานิยม อุดมลาภ มหาลาภ มหาอุด อยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดอุปัทวันตราย และมหากำบังอย่างที่พระเครื่องจะพึงมี

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

จดหมายจากในหลวงถึงสมเด็จพระเทพฯ


จดหมายจากในหลวงถึงสมเด็จพระเทพ"

จดหมายถึงสมเด็จ พระเทพ รัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี6 ตุลาคม 2547

พระราชนิพนธ์: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีไปถึงสมเด็จ พระเทพ รัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำเผยแพร่

ลูกพ่อ ในพื้นแผ่นดินนี้ ทุกสิ่งเป็นของคู่กันมาโดยตลอด มีความมืดและความสว่าง ความดีและความชั่ว ถ้าให้เลือกในสิ่งที่ตนชอบแล้ว ทุกคนปรารถนาความสว่างปรารถนาความดีด้วยกันทุกคน แต่ความปรารถนานั้นจักสำเร็จลงได้ จักต้องมีวิธีที่จักดำเนินให้ไปถึงความสว่าง หรือ ความดีนั้น ทางที่จักต้องไปให้ถึงความดีก็คือรักผู้อื่น เพราะความรักผู้อื่น สามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ถ้าให้โลกมีแต่ความสุขและเกิดสันติภาพ ความรักผู้อื่นจักเกิดขึ้นได้

พ่อขอบอกลูกดังนี้...

1. ขอให้ลูกมองผู้อื่นว่า เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าอดีต...ปัจจุบัน...อนาคต

2. มองโลกในแง่ดี และจะให้ดียิ่งขึ้น ควรมองโลกจากความเป็นจริง อันจักเป็นทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง และเหมาะสม

3. มีความสันโดษ คือ - มีความพอใจเป็นพื้นฐานของจิตใจ พอใจตามมีตามได้ คือได้อย่างไร ก็เอาอย่างนั้น ไม่ยึดติด ขอให้คิดว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ พอใจตามกำลัง คือมีน้อยก็พอใจตามที่ได้น้อย - ไม่เป็นอึ่งอ่างพองลมจะเกิดความเดือดร้อนในภายหลัง - พอใจตามสมควร คือทำงานให้มีความพอใจเหมาะสมแก่งาน - ให้ดำรงชีพให้เหมาะสมแก่ฐานะของตน

4. มีความมั่นคงแห่งจิต คือให้มองเห็นโทษของความเกียจคร้าน และมองเห็นคุณประโยชน์ของความเพียร และเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้ภาวนาว่า...มีลาภ มียศสุขทุกข์ปรากฏ สรรเสริญนินทา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เป็นกฎธรรมดา อย่ามัวโศกานึกว่า ' ชั่งมัน '

พ่อ 6/10/2547

---------------------------------------------------------------------------------------

สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชปรารภทิ้งท้าย *** ฉันหวังว่า คำสอนพ่อที่ฉันได้ประมวลมานี้ จะเกิดประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน ที่ได้พบเห็น และลูกอันเป็นที่รักของพ่อทุกคน
ฉันรัก พ่อฉันจัง สิรินธร
************************************************************************************

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

การสร้างความสมานฉันท์ ตามรอยพระพุทธเจ้า (ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี)


การสร้างความสมานฉันท์ ตามรอยพระพุทธเจ้า (ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี)

เมื่อพุทธกาล ๒๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ณ โฆษิตาราม ใกล้กับเมืองโกสัมพี มีภิกษุสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่แสดงธรรมเก่ง (ธรรมกถึก) กับกลุ่มที่เคร่งครัดในพระวินัย (วินัยธร)
แต่ละกลุ่มก็มีอุปัชฌาของตนเอง แบ่งได้กลุ่มละประมาณ ๕๐๐ รูป
อยู่มาวันหนึ่งพระอุปัชฌาฝ่ายธรรมกถึก ไปทำภาระกิจในถาน (สุขาของพระ) เมื่อตักน้ำล้างที่ถานแล้ว ก็เหลือน้ำไว้ในภาชนะ
การเหลือน้ำไว้ในภาชนะหลังจากที่ตักไปล้างถานแล้ว ทางพระวินัยถือว่าผิด (เป็นอาบัติ) เพราะจะทำให้เป็นที่ฟักไข่ของยุงหรือสัตว์อื่นๆได้ เป็นต้น เมื่อพระรูปอื่นไปใช้ถานภายหลัง ก็จะเป็นการทำลายชีวิตสัตว์
ให้หลังจากที่พระอาจารย์ฝ่ายะรรมกถึกออกจากถานไป พระอาจารย์ฝ่ายวินัยธรได้เข้าไปใช้ถานนั้นบ้าง เมื่อเห็นน้ำแล้ว ก็ออกมาถามพระอุปัชฌาฝ่ายธรรมกถึก
ว่าเมื่อครู่ท่านเหลือน้ำไว้ในภาชนะหรือ พระธรรมกถึกก็ยอมรับว่าไช่ พระวินัยธรถามต่อว่า แล้วที่ทำเช่นนั้นท่านไม่รู้หรือว่าเป็นอาบัติ พระธรรกถึกก็ตอบตามตรงว่าไม่ทราบ พร้อมทั้งบอกกับพระวินัยธรว่า ถ้าอย่างนั้นผมขอปลงอาบัตินะครับ ฝ่ายพระวินัยธรก็ยั้บยั้งว่า ไม่เป็นไรหรอกในเมื่อท่านไม่ทราบว่าเป็นอาบัติ ท่านไม่ได้แกล้งทำ ไม่ต้องปลงอาบัติหรอก ( การปลงอาบัติ เป็นการขอขมา และสัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก ในความผิดที่ไม่รุนแรง)
แต่เมื่อเวลาผ่านไปพระอาจารย์ฝ่ายวินัยธร ได้ไปบอกกล่าวลูกศิษย์ของทั้งหมดว่า พระอาจารย์ธรรมกถึกเหลือน้ำไว้ในภาชนะหลังจากที่เข้าไปในถาน ต้องอาบัติขนาดนั้นยังไม่รู้ตัวอีก
ฝ่ายลูกศิษย์ของพระวินัยธร ก็นำเรื่องการไม่รู้อาบัตินั้นไปพูดในทางเสียหายแก่ลูกศิษย์ของพระธรรมกถึก ทำนองว่าพระอาจารย์ของท่านไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นอาบัติหรือไม่เป็น
ฝ่ายลูกศิษย์ได้ฟังก็ไม่พอใจ นำความไปฟ้องกับพระอาจารย์ฝ่ายธรรมกถึก เมื่อได้ท่านฟังก็คงจะอารมณ์เสีย เลยพูดว่า พระอาจารย์ฝ่ายวินัยธร รูปนี้พูดมุสาเสียแล้ว ก็เคยพูดกับเราแล้วว่าไม่เป็นอาบัติ ครั้นเราจะของปลงอาบัติก็ห้ามว่าไม่ต้อง แล้วทำไมตอนนี้มาพูดเช่นนี้ ทำให้เราเสียหายมากนะ
ตั้งแต่นั้นมา ก็เกิดการบาดหมาง ทะเลาะกันแบ่งกันเป็นสองกลุ่มไม่พูดจากปราศรัยกัน ไม่ช่วยเหลือกัน ทั้งที่ก็อยู่ในอารามเดียวกัน
เวลาผ่านไปพระอาจารย์ฝ่ายวินัยธร ซึ่งท่านรู้วินัยดีกว่าพระธรรมกถึก ซึ่งเก่งแต่เฉพาะการสอนธรรม ได้ทำอุกเขปนียกรรม หรือการไล่ออกจากหมู่ ห้ามใครในอารามนั้นไปคบค้าสมาคมกับพระอาจารย์ฝ่ายธรรมกถึกรูปนั้น มิฉะนั้น จะถือว่าเข้าข้างคนผิด ก็จะได้รับโทษอาบัติ และผิดไปด้วย
แต่ฝ่ายลูกศิษย์ของพระธรรมกถึก และอุปบาสกอุบาสิกา ฆราวาสญาติโยมฝ่ายที่เชื่อศรัทธาธรรมกถึกอยู่ก่อนแล้ว หาได้เชื่อตามพระอาจารย์ฝ่ายธรรมธรไม่ ยังคงให้การคบค้าสมาคม ดูแลช่วยเหลืออยู่เหมือนเดิม
อยู่มา วันหนึ่งพระภิกษุผู้น้อย ได้นำเรื่องดังกล่าว ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลเรื่องการทะเลานั้นให้ทรงทราบ
พระพุทธเจ้าก็ทรงส่งโอวาทไปทำนองว่า ให้ไปบอกกับพระสองกลุ่มนั้นให้เลิกทะเลาะกันเสีย หันหน้าเข้าหากันสามัคคีกัน ผู้เก่งธรรมก็สอนธรรม ผุ้เก่งวินัยก็ดูแลให้ความรู้เรื่องวินัย
ภิกษุผู้น้อยนั้นนำความไปบอกทั้งสองกลุ่ม ก็ไม่มีผู้ใดเชื้อฟัง ซ้ำร้ายทะเลาะกันมากขึ้น ก็นำความมากราบทูลพระพุทธเจ้าอีกเป็นครั้งที่สอง พระพุทธเจ้าก็ทรงส่งโอวาทให้ทำเช่นเดิม ก็ไม่ได้ผลอีก ทะเลาะกันเพิ่มอีก จนในอารามหาความสุขไม่ได้
ผ่านไปสองครั้งก็ไม่ได้ผล จนครั้งที่สามภิกษุผู้น้อยนั้นได้รีบนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าขณะนี้หนักกว่าเก่าอีก เกิดการแตกแยกระหว่างพระสองกลุ่มนั้นอย่างรุนแรง แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา หรือญาติโยมที่เคยเคยถวายอาหารก็แบ่งกันเป็นสองฝ่ายแล้ว
พระพุทธเจ้าได้สดับดังนั้นทรงเห็นว่าไม่ดีแน่จึงได้เสด็จไปที่อยู่ของพระทั้งสองกลุ่ม แล้วเรียกมาสอน และให้ทำสังฆกรรมร่วมกัน ทำวัตรเช้าเย็นด้วยกัน เวลาฉันข้าวให้นั่งเป็นแถว โดยสลับการระหว่างพระธรรมกถึกรูปหนึ่งคั้นด้วยพระวินัยธรรูปหนึ่ง แบบนี้ไปเรื่องยๆ
พระองค์ได้สอนว่าการแตกร้าว ไม่สามัคคีกัน ทะเลาะกันแก่งแย่งและวิวาทกัน ทำความฉิบหายให้ โดยยกตัวอย่างผลร้ายของการทะเลาะกันเช่น นกกระจาบหลายพันตัวทะเลาะกัน วิวาทกันยังสิ้นชีวิตทุกตัว อย่าไปเรียนแบบสัตว์เดรัจฉาน
ขณะที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น ทั้งสองกลุ่มก็ไม่เชื่อไม่ฟังคำสอน ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่กล้าพูด ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เรื่องนี้จะขอจัดการกันเอง ขอให้พระองค์อย่าได้กังวลเลยโปรดเสด็จกลับไปปฏิบัติธรรมตามเดิมเถิด
เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นทีว่าจะสอนไม่ได้แล้ว ไม่ยอมเชื่อฟังทรงดำริว่าถ้าการอยู่ร่วมหมู่กับผู้ไม่ยอมให้อภัยกัน ทะเลาะกันอย่างนี้ ไปอยู่รูปเดียวดีกว่า จึงได้ออกจากอารามนั้นไป โดยไม่บอกกว่ากับภิกษุรูปใด หรือญาติโยมคนใดว่าจะไปที่ใด
พระองค์ได้เสด็จไปอีกอารามหนึ่ง ชื่อว่าพาลกโลณการาม และได้บอกกับพระเถระที่อารามนั้นว่าจะไปอีกบ้านหนึ่งเรียกชื่อว่าบ้านปาริเลยยกะ เพื่อปฏิบัติธรรมแต่เพียงพระองค์เท่านั้น ก่อนไปได้แสดงธรรมให้พระเถระรูปนั้นถึงอานิสงค์ของความสามัคคีว่า จะทำให้เกิดความเจริญ เป็นต้น
ฝ่ายญาติโยมที่เคยทำบุญใส่บาตรให้กับพระทั้งโยมฝ่ายธรรมกถึก และฝ่ายวินัยธร ได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ใด ก็ไม่มีใครทราบ
เมื่อนิ่งกันอยู่นาน มีภิกษุรูปหนึ่งคงได้ข่าวมาก่อนใครบอกกับญาติโยมว่า พวกเราสองกลุ่มทะเลาะกันพระองค์ทรงห้ามแล้วไม่มีใครเชื่อฟัง พระองค์จึงเสด็จไปจำพรรษาในป่าที่บ้านปาเลยยกะ
เมื่อได้ฟังความนั้น ญาติโยมได้รวมตัวกันทั้งหมด ไม่แบ่งฝ่ายแบ่งกลุ่มเหมือนพระภิกษุเหล่านั้น แล้วประกาศว่า ภิกษุทุกรูปโปรดทราบด้วยว่า พวกท่านทำผิด ขนาดมาบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า พระองค์ให้สามัคคีกัน รักกันก็ทำไม่ได้ ต่อไปพวกเราจะไม่ใส่บาตรให้พวกท่าน
เมื่อญาติโยมสามัคคีกันทั้งหมู่บ้านใกล้ไกลของอารามนั้น ไม่ใส่บาตร ไม่ดูแลให้ความช่วยเหลือพระทั้งสองกลุ่มที่ทะเลาะกันทำให้พระภิกษุ ๑๐๐ กว่ารูปอดอาหารซูบผมไปตามกัน
เพื่อความอยู่รอดพระสองกลุ่มเกิดสำนึกด้วย หันมาพูดคุยกันและยอมให้อภัยกัน ไม่ทะเลาะกันเหมือนก่อน และสัญญาว่าจะรักและสามัคคีกันตลอดไป
จึงได้ส่งภิกษุรูปหนึ่งไปบอกญาติโยมว่า ต่อไปให้ใส่บาตร และดูแลพระภิกษุทั้งหมดเหมือนเดินนะ พวกอาตมาสามัคคีกันแล้ว และจะไม่สร้างความแตกแยกอีกแล้ว
ญาติโยมฟังดังนั้นก็ถามว่า แล้วท่านได้ไปขอขมาพระพุทธเจ้าหรือยัง ภิกษุตอบว่ายัง ญาติโยมตั้งขอแม้ว่า ท่านต้องไปขอขมาต่อพระพุทธเจ้าก่อน พวกญาติโยมจึงจะกลับไปใส่บาตร และดูแลพวกท่านเหมือนเดิน
แต่พระภิกษุไม่สามารถไปขอขมาพระพุทธเจ้าได้ในทันทีเพราะยังอยู่ในช่วงเข้าพรรษา ต้องรอให้ออกพรรษาเสียก่อน กว่าจะออกพรรษาได้พระภิกษุทั้งสองกลุ่มก็อยู่กันมาอย่างยากลำบาก เป็นเพราะความไม่สามัคคีกันนั่นเอง
พระพุทธเจ้าเมื่อจำพรรษาอยู่ที่ป่าปาเลยยกะนั้น ได้มีช้างชื่อปาเลยยกะ ที่หนีออกจากโขลงมาเพื่อยู่ผู้เดียวสงบ มาพบพระองค์เข้าก็ศรัทธา เมื่อเห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรมาเลยคงจำพรรษาลำบาก จึงได้เข้าป่ากระ นำกิ่งไม้มากวาดให้ให้พระองค์ประทับ พระพุทธเจ้าประสงค์จะสรงน้ำร้อน ช้างนั้นก็จัดหามาให้ โดยใช้งวงจับกิ่งไม้แห่งสีกันจนเกิดไฟลุก ใส่ฟืนเข้าไป แล้วนำหินศิลามาเผาไฟ เมื่อหินร้อนได้ที่ก็ใช้งวงจับไม้และกวาดหินนั้นให้กลิ้งไปลงบ่อน้ำเล็กๆ ที่ตนทำไว้ แล้วใช้งวงหย่อนลงไปสัมผัส เห็นว่าน้ำอุ่นๆ ได้ที่ก็ไปกราบบังคมทูลพระพุทธเจ้าเพื่อมาสรงน้ำ
กลางคืนก็จะลาดตระเวณรอบที่ประทับ โดยใช้งวงจับท่อนไม้ กวาดไปตามที่ต่างๆ เป็นรัศมีวงกลมรอบที่ประทับพระพุทธเจ้าห่างออกไป แล้วเข้ามา เพื่อป้องกันอันตรายจะมาหาพระองค์ ทำแบบนี้ทุกคืนจนเช้า
เมื่อพระพุทธเจ้าจะไปบิณฑิบาตร ช้างปาเลยยกะก็ใช้งวงถือบาตรและจีวรเดินตามพระพุทธเจ้าไป แต่พอถึงชายป่าพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เอาหละปาเลยยกะ ส่งเราแค่นี้นะเพราะออกจากป่าไปไม่ใช่เขตของเจ้า เป็นที่อยู่อาศัยของญาติโยม เขาอาจจะจับเจ้าจะเป็นอันตราย ช้างก็เชื่อ ยืนรอตรงนั้นจนพระองค์บิณฑบาตรเสร็จเสด็จกลับมา ก็ถือบาตรและจีวรนำไปที่ประทับ
ช้างได้ดูและพระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธา สม่ำเสมอแบบที่กล่าวมาทุกวัน
การปฏิบัติของช้างนั้น ได้ถูกจับตาดูอยู่ของเจ้าวานรตัวหนึ่ง ที่สงสัยว่าช้างทำอะไร เข้าไปดูก็เห็นว่ากำลังดูแลพระพุทธเจ้าอยู่ ก็เกิดศรัทธาอย่างทำบ้าง
ได้เข้าป่าไปนำรังผึ้ง ที่เป็นรังเปล่าไม่มีตัวผึ้งอยู่ นำรองด้วยใบตองมาถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับมา เจ้าวานรก็แลดูว่าพระองค์จะบริโภคหรือไม่ เพราะเห็นพระพุทธเจ้ารับแล้วก็นิ่งดูเฉยๆ ลิงสงสัย จึงจับมารังผึ้งมาพลิกดู เห็นตัวอ่อนของผึ้งข้างในจึงนำไปเคาะออกจนหมด นำมาถวายใหม่พระองค์รับแล้วก็บริโภค ลิงไปแอบดูอยู่บนกิ่งไม้ เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าบริโภคก็ดีใจกระโจนห้อยโหนไปมาจนตกกิ่งไม้ ลงมาตาย ไปเกิดในสวรรค์
เรื่องที่มีช้างมาดูแลอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ได้มีผู้พูดไปทั่วเมือง ทำให้มีผู้ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้ไปอ้อนวอนพระอานนท์ซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐาก (ผู้ดูแลใกล้ชิดพระพุทธเจ้า) ให้พาไป พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในหลายๆที่ก็ประสงค์เช่นนั้น พระอานนท์ได้พาพระสงฆ์เหล่านั้นประมาณ ๕๐๐ รูปไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อไปถึงพระอานนท์ได้ให้พระทั้ง ๕๐๐ รูปรออยู่ด้านนอก เพราะเกรงจะไม่สมควรถ้าพาเข้าเฝ้าในขณะนั้น พระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ารูปเดียวก่อน ระหว่างเดินไป ช้างปาเลยยกะเห็นเข้าก็ใช้งวงจับไม้วิ่งตรงเข้ามา หวังจะทำร้ายพระอานนท์ พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นก็ ตรัสห้าม และบอกกับช้างว่าพระอานนท์นี้เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์
เมื่อช้างได้ยินก็หยุด แต่ในใจคิดว่า เราจะลองดูพระรูปนี้ก่อนซิว่าจะเป็นผู้มีกิริยาที่ได้ฝึกมาแล้วอย่างดี จะไม่วางบาตร จีวร และทำตัวเสมอพระพุทธเจ้า เมื่อพระอานนท์เดินเข้าไปต่อหน้าพระพักตร์ ได้ทำความเคารพและนั่งในที่สมควรไม่เสมอพระพุทธองค์ และวางบาตรจีวรไว้ที่เหมาะสมไม่วางบนศิลาที่พระพุทธเจ้าประทับ ช้างเห็นก็ศรัทธา
เมื่อพระอานนท์นั่งแล้วพระพุทธเจ้าถามว่ามาคนเดียวหรือ และเมื่อทรงทราบว่ามีพระภิกษุรออยู่ด้านนอกอีก ๕๐๐ รูป ก็ให้พระอานนท์ไปพาเข้ามาเฝ้า
เมื่อพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นเข้าก็มาก็กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่ามาอยู่จำพรรษาพระองค์เดียวในป่าไม่ลำบากหรือ พระองค์ตรัสตอบทำนองว่า ไม่ลำบากเพราะมีช้างปาเลยยกะคอยดูแล เหมือนคนมีเพื่อนดีอยู่ด้วยกันก็มีความสุข การมีเพื่อนไม่ดีแม้มีมากเท่าใดก็เป็นทุกข์ การอยู่คนเดียวสบายเสียดีกว่า
จากนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องการคบเพื่อนที่ดี อเสวนาคนดีก็จะทำให้ได้รับความดีมาใส่ตนเป็นต้นพระภิกษุเหล่านั้นก็ได้บรรลุพระอรหันต์
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแสดงธรรมเสร็จพระอานนท์ กราบทูลว่าญาติโยมในเมืองก็ได้ให้มานิมนต์พระองค์ไปที่นั่น พระพุทธเจ้าจึงได้ให้พระทั้งหมดเตรียมเดินทางไป
ทันใดนั้นช้างได้มาขวางหน้า พระภิกษุเหล่านั้นได้ถามพระพุทธเจ้าว่าช้างจะทำอะไร พุทธองค์ตรัสว่า ช้างจะถวายอาหารให้พวกเธอทั้งหลาย ดังนั้นอย่าทำให้ช้างนี้ต้องเสียใจ เราอยู่กันที่นี่อีกคืน
จากนั้นช้างก็เข้าป่า หาผลไม้มากองไว้มากมาย เช้าขึ้นพระภิกษุสงฆ์ก็ฉันผลไม้นั้น และยังเหลืออีกมากมาย ฉันเสร็จพระพุทธเจ้าพาพระภิกษุสงฆ์เดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น
ช้างก็มาขวางอีก พระภิกษุก็ถามว่าคราวนี้ช้างจะทำอะไรอีก พระองค์ทรงตอบว่า ช้างจะให้เราอยู่และส่งพวกเธอ แต่คราวนี้พระองค์ได้บอกช้างว่า ต่อไปนี้จะไปจริงๆแล้วไม่กลับมาอีก ให้ช้างอยู่ในป่าตามแบบของช้างเถิด ช้างเสียใจมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลับตาไปแล้ว ช้างได้นำงวงใส่ไว้ในปากไม่ยอมกินอะไรจนตาย แล้วไปเกิดในสวรรค์
เมื่อพระพุทธเจ้าและพระภิกษุเหล่านั้น ถึงเมืองสาวัตถีแล้ว พระที่เคยทะเลาะกันจนทำให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่า จะเข้าไปขอขมาพระพุทธเจ้า พระเจ้าโกศล (พระเจ้าแผ่นดิน)ได้เข้าพระศาสดาว่าจะไม่ให้พระเหล่านั้นเข้ามาในมืองนี้
พระพุทธเจ้าได้ห้ามและอนุญาตให้พระภิกษุเหล่านั้นเข้ามาได้ เพราะเป็นผู้มีศีล เมื่อเขาสำนึกได้แล้ว จะมาขอขมาก็ไม่ควรห้าม
ชาวเมืองโกสัมพีเองก็จะไม่ถวายสิ่งของและอาหารให้กับพระเหล่านั้นที่เคยทะเลาะกัน แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงห้ามไว้อีก
เมื่อพระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระที่เคยทะเลากันเข้าเฝ้าได้แล้วก็ได้ทรงแสดงธรรมให้กับพระภิกษุเหล่านั้นว่าผู้ที่เชื่อคำพ่อแม่ครูบาอาจารย์จะเป็นผู้เจริญไม่ตกอับ
ส่วนผู้ใดที่ไม่เชื่อไม่ทำตามคำของพ่อแม่ครูบาอาจารย์จะมีแต่เรื่องร้าย ถือเป็นกรรมหนัก จะทำให้เกิดการแตกยก หาความสงบสุขไม่มี
ขอขมาเสร็จ ชาวเมืองก็มาถวายอาหารอาหาร และดูและพระภิกษุในกลุ่มของธรรมกถึก และพระวินัยธร เหล่านั้นเหมือนเดิม และอยู่กันแบบสร้างสรรค์ตลอดมา

ความเดิมจาก : อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรค ๑ เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ออนไลน์ ๒๕๕๒

วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

ทางม้าทางโค

ทางม้าทางโค

ปริพาชก...แปลว่าผู้จาริกไป ที่พอรู้จักจากพุทธประวัติ น่าจะไม่ใช่นักบวช เจอหน้าผู้รู้สำนักไหน ก็มักตั้งปุจฉา และวิสัชนา เหมือนนักโต้วาที เอาแพ้เอาชนะกันไปเรื่อยๆ
ก่อนพุทธกาล สำนักสัญชัยปริพาชก เป็นสำนักใหญ่ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ศิษย์เอกสองคนเป็นเพื่อนรักกัน คนแรก ชื่ออุปติสสะ คนที่สองชื่อโกลิตะเพื่อนสองคนนี้ เป็นลูกผู้ดีมีเงิน สมัยนี้คงอยู่ในข่ายไฮโซ เรียนวิชาโต้วาทีจนเจนจบจากสำนักสัญชัย แล้วก็รู้ว่า ยังไม่ใช่วิชาที่ดีที่สุด ปรึกษากันว่า ถ้าเจออาจารย์สำนักไหนมีวิชาดีกว่า จะมาบอกกันอุปติสสะ เจอพระอัสสชิ ปัญจวัคคีย์องค์สุดท้าย...ฟังคำสอนย่อๆ แต่แหลมคมทะลุหัวใจ สิ่งใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น...ก็แน่ใจว่า...ใช่แล้วบอกโกลิตะเพื่อนยังไม่พอ ชวนกันไปหา พระอาจารย์สัญชัย บอกตรงๆว่า เจออาจารย์ที่สอนให้บรรลุถึงความหลุดพ้น จึงอยากชวนพระอาจารย์ไปแสวงหาความหลุดพ้นด้วยกัน"อุปติสสะ จะให้ฉันทิ้งสำนักไปได้ยังไง?" พระอาจารย์ตกใจ "ลูกศิษย์ลูกหาสำนักเรามีอยู่ก็มาก ถ้าเธอเลื่อมใสพระพุทธเจ้าจริง จะไปก็ไปเถิด แต่ฉันไม่ไปด้วย"อย่าลืมทีเดียวบทสนทนาต่อไปนี้ ระดับอาจารย์สำนักโต้วาทีหนึ่งเดียวในแผ่นดิน"ท่านอาจารย์ จะอยู่ไปทำไม ชาวบ้านไม่ว่าที่ไหนๆ เขาก็พากันเลื่อมใส แห่กันไปหาพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้น" อุปติสสะปล่อยไม้ตาย "ถ้าใครต่อใคร เขาพากันไปเสียหมด จะมีใครอยู่ในสำนักอาจารย์ต่อไปอีก" "เธอแน่ใจอย่างนั้นหรือ?" พระอาจารย์สัญชัยย้อนถาม "ถ้าเธอแน่ใจ ตอบคำถามฉันก่อนในโลกนี้ คนฉลาดมาก หรือคนโง่มาก""คนโง่มากกว่า แน่นอนขอรับ" อุปติสสะตอบทันที"ถูกของเธอ อุปติสสะ" พระอาจารย์สัญชัยพูดไปยิ้มไปเหมือนได้ที "เป็นธรรมดา ที่คนฉลาดย่อมต้องไปหาคนฉลาด คนโง่ย่อมต้องไปหาคนโง่ เหมือนฝูงโค ก็ย่อมจะไปอยู่รวมกับโค ฝูงม้าก็ย่อมจะไปอยู่รวมกับม้าอุปติสสะ โกลิตะ เธอสองคนเป็นคนฉลาด มีสติปัญญา ควรแล้วที่จะพากันไปสำนักพระสมณโคดม ส่วนคนที่เหลือนอกนั้น เป็นคนโง่ จะเป็นไรไป เมื่อเขาจะมาสำนักเราเมื่อเป็นเช่นนั้น สำนักเราก็คงจะยังหนาแน่นด้วยผู้คน ไม่ว่างเปล่าให้เธอต้องเป็นห่วง"ก็เป็นอันว่า โวหารระดับพระอาจารย์ปริพาชกสัญชัยเอาชนะสองศิษย์เอก ยอมให้สองศิษย์เอกลาไปเป็นศิษย์พระพุทธเจ้าได้ โดยไม่ต้องพ่วงอาจารย์ไปด้วยสองศิษย์ปริพาชกที่ว่านี้
ต่อมา...ชาวพุทธเรารู้จักกันดี ในชื่อ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกขวาและซ้ายของพระพุทธเจ้าพุทธประวัติช่วงนี้
มีประเด็นให้คิดกันไม่น้อยนะครับ โคก็ย่อมจะไปรวมอยู่ในฝูงโค ม้าก็ย่อมไปรวมอยู่ในฝูงม้า คนโง่ก็ต้องอยู่ในหมู่คนโง่ คนฉลาดก็ต้องไปหาคนฉลาดทุกคนที่เกิดมา เลือกทางเดินของตัวเอง ห้ามกันไม่ได้ ทางใคร ก็ทางมันเรื่องใครโง่ใครฉลาด ใครดีใครชั่ว ในสถานการณ์หน้าสิ่ว หน้าขวาน คงไม่พูดกัน ห่วงกันอยู่เรื่องเดียว เรื่องจะจบแบบไหน โดยไม่ให้เลือดนองแผ่นดิน.

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

“ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญเถิด ยสะ เชิญมาทางนี้ เราจักแสดงธรรมให้เธอฟัง”

ประวัติแห่งพระยสะ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

พระยสะนั้น เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี เป็นผู้บริบูรณ์มีเรือน ๓ หลังเป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู ครั้งหนึ่ง เป็นฤดูฝน ยสกุลบุตรอยู่ในปราสาทเป็นที่อยู่ในฤดูฝน บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคม ไม่มีบุรุษเจือปน.
ค่ำวันหนึ่ง ยสกุลบุตรนอนหลับก่อนหมู่ชนบริวารหลับต่อภายหลัง แสงไฟตามสว่างอยู่ ยสกุลบุตรตื่นขึ้น เห็นหมู่ชนบริวารนอนหลับ มีอาการพิกลต่าง ๆ บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ บางนางมีเปิงมางตกอยู่ ณ อก บางนางสยายผม บางนางมีเขฬะไหล บางนางบ่นละเมอต่าง ๆ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนก่อน ๆ หมู่ชนบริวารนั้นปรากฏแก่ยสกุลบุตร ดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า.
ครั้นยสกุลบุตรได้เห็นแล้ว เกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย ออกอุทาน (วาจาที่เปล่งด้วยอำนาจความสลดใจ) ว่า
"ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ "
ยสกุลบุตรรำคาญใจ จึงสวมรองเท้าเดินออกจากประตูเรือนไปแล้ว ออกประตูเมืองตรงไปในทางที่จะไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เวลานั้นจวนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตรออกอุทานนั้น เดินมายังที่ใกล้ จึงตรัสเรียกว่า
"ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านมาที่นี่เถิด นั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน"
ยสกุลบุตรได้ยินอย่างนั้นแล้ว คิดว่า ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวายที่นี่ไม่ขัดข้อง จึงถอดรองเท้าเสีย เข้าไปใกล้ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง. พระาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา คือถ้อยคำที่ กล่าวโดยลำดับ พรรณนาทานการให้ก่อนแล้ว พรรณนาศีลความรักษากายวาจาเรียบร้อยเป็นลำดับแห่งทาน พรรณนาสวรรค์ คือกามคุณที่บุคคลใคร่ซึ่งจะพึงได้พึงถึงด้วยกรรมอันดี คือทานและศีลเป็นลำดับแห่งศีล พรรณนาโทษ คือความเป็นของไม่ยั่งยืน และประกอบด้วยความคับแค้นแห่งกามอันได้ชื่อว่าสวรรค์นั้น เป็นลำดับแห่งสวรรค์ พรรณนาอานิสงส์แห่งความออกไปจากกาม เป็นลำดับแห่งโทษของกาม ฟอกจิตยสกุลบุตร ให้ห่างไกลจากความยินดีในกามควรรับพระธรรมเทศนาให้เกิดธรรมจักษุ เหมือนผ้าที่ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้ฉะนั้น แล้วจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระองค์ยกขึ้นแสดงเอง คืออริยสัจ ๔ อย่าง คือทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด เหตุให้ทุกข์ดับ และข้อปฏิบัติเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์
ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมพิเศษ ณ ที่นั้นแล้ว ภายหลังพิจารณาภูมิธรรมที่ตนได้เห็นแล้ว จิตพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน. ฝ่ายมารดาของยสกุลบุตร เวลาเช้าขึ้นไปบนเรือน ไม่เห็นลูกจึงบอกแก่เศรษฐีผู้สามีให้ทราบ เศรษฐีให้คนไปตามหาใน ๔ ทิศส่วนตนออกเที่ยวหาด้วย เผอิญเดินไปในทางที่ไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้เห็นรองเท้าของลูกตั้งอยู่ ณ ที่นั้นแล้ว ตามเข้าไปถึงที่พระศาสดาประทับอยู่กับยสกุลบุตร. พระศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ ให้เศรษฐีเห็นธรรมแล้ว
เศรษฐีทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ข้าพเจ้าถึงพระองค์กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นที่ระลึก ขอพระองค์ทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เศรษฐีนั้น ได้เป็นอุบาสกอ้างพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ครบทั้ง ๓ เป็นสรณะก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก.
ในตอนนี้ พระคันถรจนาจารย์กล่าวความว่า ในขณะที่เศรษฐีผู้บิดายสกุลบุตรเข้าไปอยู่ ทรงบันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร คือฤทธิ์ที่แต่งขึ้น ไม่ให้บิดากับบุตรเห็นกัน ต่อทรงแสดงธรรมเทศนาจบ ยสกุลบุตรพิจารณาภูมิธรรมอันตนได้เห็นแล้ว บรรลุพระอรหัตและเศรษฐีผู้บิดาได้บรรลุพระโสดาปัตติผลแล้ว จึงทรงคลายอิทธาภิสังขารนั้นให้บิดากับบุตรเห็นกัน. เศรษฐีผู้บิดายังไม่ทราบว่ายสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้ว จึงบอกความว่า พ่อยสะ มารดาของเจ้า เศร้าโศกพิไรรำพันนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด.
ยสกุลบุตรแลดูพระศาสดา ๆ ตรัสแก่เศรษฐีว่า คฤหบดี ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน แต่ก่อนยสะได้เห็นธรรม ด้วยปัญญาอันรู้เห็นเป็นของเสขบุคคล๑เหมือนกับท่าน ภายหลัง ยสะพิจารณาภูมิธรรมที่ตนได้เห็นแล้ว จิตก็พ้นจากอาสวะมิได้ถือมั่นด้วยอุปาทาน ควรหรือยสะจะกลับคืนไปบริโภคกามคุณเหมือนแต่ก่อน. ไม่อย่างนั้นพระเจ้าข้า เป็นลาภของพ่อยสะแล้วความเป็นมนุษย์ พ่อยสะได้ดีแล้ว ขอพระองค์กับพ่อยสะเป็นสมณะตามเสด็จ จงทรงรับบิณฑบาตของข้าพเจ้าในวันนี้เถิด. พระศาสดาทรงรับด้วยนิ่งอยู่. เศรษฐีทราบว่าทรงรับแล้ว ลุกจากที่นั่งแล้ว ถวายอภิวาทแล้ว ทำประทักษิณ๑แล้วหลีกไป.
เมื่อเศรษฐีไปแล้วไม่ช้า ยสกุลบุตรทูลขออุปสมบท. พระศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วย พระวาจาว่า มาเถิดภิกษุ ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ในที่นี้ไม่ตรัสว่า เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดทุกข์แล้ว. สมัยนั้น มีพระอรหันต์ขึ้นในโลกเป็น ๗ ทั้งพระยสะ.
ในเวลาเช้าวันนั้น พระศาสดากับพระยสะตามเสด็จ ๆ ไปถึงเรือนเศรษฐีนั้นแล้ว ทรงนั่ง ณ อาสนะที่แต่งไว้ถวาย. มารดาและภริยาเก่าของยสะเข้าไปเฝ้า พระองค์ทรงแสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้ง ๒ นั้นเห็นธรรมแล้ว สตรีทั้ง ๒ นั้นทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาแล้ว แสดงตนเป็นอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะโดยนัยหนหลัง ต่างแต่เป็นผู้ชายเรียกอุบาสก เป็นผู้หญิงเรียกว่า อุบาสิกา เท่านั้น สตรีทั้ง ๒ นั้นได้เป็นอุบาสิกาขึ้นในโลกกว่าหญิงอื่น. ครั้นถึงเวลา มารดาบิดา และภริยาเก่าแห่งพระยสะ ก็อังคาสพระศาสดาและพระยสะด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยเคารพด้วยมือของตน ครั้นฉันเสร็จแล้ว พระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนชนทั้ง ๓ ให้เห็น ให้สมาทาน ให้อาจหาญให้รื่นเริงแล้ว เสด็จกลับไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน.
ฝ่ายสหายของพระยสะ ๔ คน ชื่อวิมละ ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ควัมปติ ๑ เป็นบุตรแห่งเศรษฐีสืบ ๆ มาในเมืองพาราณสี ได้ทราบ ข่าวว่ายสกุลบุตรออกบวชแล้ว จึงคิดว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรออกบวชนั้นจักไม่เลวทรามแน่แล้ว คงเป็นธรรมวินัยอันประเสริฐ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว พร้อมกันทั้ง ๔ คน ไปหาพระยสะ ๆ ก็พาสหาย ๔ คนนั้นไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอให้ทรงสั่งสอน พระองค์ทรงสั่งสอนให้กุลบุตรทั้ง ๔ นั้นเห็นธรรมแล้ว ประทานอุปสมบทอนุญาตให้เป็นภิกษุแล้ว ทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตตผล. ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ขึ้นในโลก ๑๑ พระองค์.
ฝ่ายสหายของพระยสะอีก ๕๐ คน เป็นชาวชนบท ได้ทราบข่าวนั้นแล้ว คิดเหมือนหนหลัง พากันมาบวชตามแล้ว ได้สำเร็จพระอรหัตตผลด้วยกันสิ้นโดยนัยก่อน บรรจบเป็นพระอรหันต์ ๖๑ องค์. พระยสะและพระสหายเหล่านี้ พระศาสดาทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา ในคราวแรก พร้อมด้วยพระปัญจวัคคีย์ ตั้งแต่นั้นมาไม่ปรากฏอีก ไม่มีนามในจำพวกพระมหาสาวกอันพระศาสดาทรงยกย่องในที่เอตทัคคะ ชะรอยจะนิพพานสาบศูนย์เสียในคราวไปประกาศพระศาสนานั่นเอง.
หนังสืออ้างอิง.-
-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘, -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕ -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕ -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗