"...คนที่ไปดูได้เห็นว่า เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลยแต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนที่อยู่ในท้องที่นั้นก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ ในระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะถ้าไม่มีการร่วมมือกันก็ไม่ก้าวหน้า ไม่มีความก้าวหน้า ฉะนั้น การที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าได้อย่างไร ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำแล้ว ก็ทำให้ก้าวหน้า แต่อันนี้มันไม่ใช่
กลุ่มหนึ่ง มันทั้งหมดรวมกันทำ และมีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศไทยจะมีความสำเร็จ" พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 21 สิงหาคม 2552 ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ศรราม ต๋องาม สมาชิก อบต.กลัดหลวง หมู่ 8 บ้านทุ่งโป่ง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี บอกว่า สมัยก่อน...ชาวบ้านก็ทำไร่กันแบบทั่วไป ผมเริ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่ง 2 ไร่ 1 งานก็ปลูกกันไป...ทำกันมา เอาไปขายตลาดก็ถือว่าขายดี ราคาก็ดี "แต่ปัญหาสำคัญคือ...ขาดแหล่งน้ำ"ศรราม บอกว่า หน่อไม้ฝรั่ง จะต้องใช้คนงานมาก พอเริ่มต้นปลูก จะต้องดูแลเรื่องน้ำ ทำหญ้าให้เขา การใช้ปุ๋ย ใช้ยา ไม่มีวัชพืชใดๆทั้งสิ้นลงดินไปแล้ว 4 เดือน ถึงจะเก็บได้ แต่ในระยะนี้...ต้องหมั่นพรวนดิน ปักหลัก เอาเชือกขึง เพื่อไม่ให้ต้นล้ม...โยก ต้นจะให้หน่อได้สมบูรณ์"ถ้าปลูกแบบปล่อยไม่ดูแลอะไรเลย ต้นก็จะสูง ล้ม โยกเอน หน่อไม้ฝรั่งที่ออกมาก็จะไม่สวย"ครอบครัวศรรามปลูกหน่อไม้ฝรั่งมานานเกือบ 10 ปีเต็ม สั่งสมประสบการณ์เอาไว้หลายอย่าง พอรู้ข่าวว่าในหลวงมาซื้อที่ดินผืนนี้เอาไว้ ก็มีคำถามหลายข้อที่สงสัย...
สงสัยติดใจได้ไม่กี่วัน...วันที่ 13 กรกฎาคม คุณดิสธร วัชโรทัย ก็มาประชุม 26 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชาวบ้าน 3 ตำบล กลัดหลวง เขากระปุก เขาไม้รวก...ชาวบ้านแต่ละคนได้รับการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ศรรามเชี่ยวชาญเรื่องหน่อไม้ฝรั่ง ก็รับหน้าที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งในแปลงปลูกไร่ชั่งหัวมัน ศรราม บอกว่า การขาย...การทำการเกษตรแบบเดิมที่ทำกันมานาน ชาวบ้านบางคนอาจเรียกว่า...ทำแบบครูพักลักจำ บางทีจำไม่หมดก็จดไว้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้จด"ทำไป...ก็ใช้ไปอยู่ตรงนั้น ทำแค่ให้อยู่ได้ มีกินมีใช้ ไม่ลำบาก ไม่ขัดสน ก็พอแล้ว"หน่อไม้ฝรั่งพื้นที่สองไร่กว่า เลี้ยงครอบครัว 7 ชีวิต อยู่ได้ เช่นเดียวกับการปลูกหน่อไม้ฝรั่งในแปลงชั่งหัวมัน ของพระองค์ท่าน แปลงนี้ ปลูกหน่อไม้ 5,200 ต้น...การเก็บเกี่ยวต่อวันจะอยู่ที่ 50-60 กิโลกรัมช่วงแรก ต้นยังเล็กขายกิโลกรัมละ 29 บาท แต่ตอนนี้ ขยับขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 40 บาทแล้ว หน่อไม้ฝรั่ง มีอยู่ 3 เกรด เกรดเอ...บี...ซี แล้วก็เกรดรวม เกรดเอราคาสูงแต่ต้องคัดเฉพาะต้นใหญ่เท่าหัวแม่มือ แต่ที่ขายอยู่ทุกวันนี้เป็นเกรดซีเกรดรวม"ราคาหน่อไม้ฝรั่งที่ขายในท้องตลาดก็ขึ้นๆลงๆ ตามราคาตลาด"ย้อนไปก่อนหน้าที่ในหลวงจะมาซื้อที่ดินทำโครงการชั่งหัวมัน ตอนนั้นชาวบ้านทำการเกษตรแบบชาวบ้าน ไถดิน พรวนดิน แล้วก็ไม่มีที่จะเอาปุ๋ยมาบำรุงดิน ปรับปรุงหน้าดิน ไถเสร็จก็หาพืชพันธุ์มาปลูก แล้วก็ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยกระสอบ"ปุ๋ยกระสอบ...ถามว่าได้ผลไหม ก็ได้ผลตอนที่ใส่ไปใหม่ๆ" ศรราม ว่า "ปุ๋ยเคมีจะมีคุณภาพช่วง 5 วัน...10 วัน หลังจากนั้น 15 วัน...1 เดือนคุณภาพก็เสื่อมลง ต้นไม้จะเหี่ยวแห้ง เหลือง ไม่เขียวขจีเหมือนที่เราใช้ปุ๋ยชีวภาพในปัจจุบัน"สภาพผืนดินที่บ้านคอกไก่ ถือว่าแห้งแล้งที่สุด ชาวบ้านทำการเกษตรกันแบบตามมีตามเกิด ตามฟลุก...ถ้าฝนดี น้ำมาก เราก็ได้ทำนานหน่อย ให้พืชผักอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าปีไหนฝนแล้ง ฝนธรรมชาติไม่มี ใช้น้ำหมดก็หมดกันว่างเว้น...จากการทำการเกษตร ก็พากันไปรับจ้าง พืชที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูก ก็จะมีหน่อไม้ฝรั่ง อ้อย สับปะรด ผักสวนครัว มะเขือเทศ พริก ถั่วฝักยาว แตง แฟง ข่า ตะไคร้"ผลผลิตจะมาก จะน้อย...ควบคุมอะไรไม่ได้เลย"ความเจริญ เขียวชอุ่มในไร่ชั่งหัวมัน กำลังแผ่ขยายไปสู่ไร่ชาวบ้านละแวกข้างเคียง และขยายวงไปเรื่อยๆ ศรราม บอกว่า โชคดีเป็นบุญวาสนาของพวกเรา ที่พระองค์มาซื้อดินไว้ที่นี่ ลงมาทำการเกษตร เป็นต้นแบบให้ชาวบ้านได้ดูเป็นตัวอย่าง"รู้ไหมว่าชาวบ้านปลาบปลื้มใจ ดีใจที่สุด"
การทำงานในช่วงเริ่มต้นโครงการชั่งหัวมัน ในฐานะชาวบ้านคนหนึ่ง เราร่วมแรงร่วมใจลอกอ่างเก็บน้ำหนองเสือ ปรับปรุงให้เก็บน้ำได้มากขึ้น...จาก 230,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 280,000 ลูกบาศก์เมตรแรกๆชาวบ้านพูดกันมาก ที่ดินแห้งแล้งขนาดนี้ น้ำก็น้อยมากๆ ในหลวงจะซื้อมาปลูกอะไร"ที่แปลงนี้...ชาวบ้านเจ้าของที่เดิมประกาศขายมาหลายปีแล้ว ไม่มีใครที่จะซื้อ ดูในหน้าโฉนด...แผนผังสวยดี ราคาไม่สูงจนเกินไป ทุกคนก็อยากจะซื้อ แต่พอมาเห็นพื้นที่จริง มีแต่ป่ายูคาฯ ป่ากระถินณรงค์...ก็ไม่มีใครอยากได้"ศรรามถือเป็นผู้เชี่ยวชาญการปลูกหน่อไม้ฝรั่งแถวหน้า แต่วันนี้ได้รับหน้าที่ ให้เป็นวิทยากรบรรยายให้กับผู้เข้ามาศึกษาดูงาน โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริศรราม บอกอีกว่า แต่จะเป็นคู่บุญบารมีของพระองค์ท่านก็ไม่ทราบ นับตั้งแต่วันที่ซื้อที่ดิน ชาวบ้านก็ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันปรับปรุงทำ เนรมิตผืนดินของพระองค์ท่านให้เป็นสวนเกษตรเหมือนสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ"พืชผัก พืชพรรณที่ปลูกเอาไว้ เขียวขจี แล้วก็ได้รับผลประโยชน์กลับคืนมาในการจำหน่าย มะนาวก็ดก...น้ำเยอะ หน่อไม้ฝรั่งก็งาม งามกว่าที่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงปลูกได้มากๆ เราเห็น เราทำกับมือ...ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ชาวบ้านทุกคนก็เห็นเหมือนๆกัน"
ศรรามสิ่งที่เกิดขึ้น การทำเกษตรถ้าใช้ปุ๋ยเคมี ก็ต่างกับการใช้ปุ๋ยชีวภาพ...ปุ๋ยเคมีงามชั่วเวลาที่ปุ๋ยมีคุณภาพ แต่ถ้าหมดฤทธิ์ เสื่อมโทรมแล้วมันก็ไม่ทำให้พืชผักงามอยู่ตลอด โครงการชั่งหัวมัน ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักบำรุงต้นใบอย่างผสมผสาน ปรับพื้นดิน ทำให้ดินร่วนซุยอยู่ตลอด จะปลูกอะไรก็ราวกับว่าผืนดินผืนนี้เป็นผืนดินมหัศจรรย์ชาวบ้านข้างเคียงเขาก็ได้รับอานิสงส์ ได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำตามกันจริงๆ ไม่เฉพาะแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังเป็นการทำจริงๆให้กับตัวเอง ลดการลงทุนในการซื้อปุ๋ยเคมีกระสอบละ 1,000 กว่าบาท "ปุ๋ยชีวภาพ ราคาต่ำแต่ได้ผล เก็บผลผลิตพืชผลได้มาก ได้มารู้ ได้มาเรียน ได้มาทำตาม ตอนนี้ชาวบ้านข้างเคียง ก็ทำแบบเดียวกับโครงการชั่งหัวมัน เหมือนลูกเดินตามรอยพ่อ"ประเด็นประทับใจสุดท้าย ในไร่ชั่งหัวมัน นริศ สมประสงค์ เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ โครงการชั่งหัวมัน บอกว่า ชาวบ้านทั่วไปเห็นบ้านในโครงการ ก็พูดกันว่า ในหลวงทรงสร้างบ้านเอาไว้ด้วย มีเลขที่บ้าน... "เลขที่ 1" "ต้องบอกก่อนนะครับว่า เป็นความเข้าใจของชาวบ้าน คิดว่าท่านมาประทับที่นี่ แต่ศาลาทรงงาน เรือนที่ประทับ ที่สร้างไว้ท่านยังไม่ได้มาประทับ เนื่องจากตอนแรกยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยดี ปัจจุบันเรียบร้อยดีแล้ว รอท่านเสด็จกลับมาอีกครั้ง"บ้านในหลวงที่ชาวบ้านเข้าใจ คือ เรือนรับรองที่ประทับ เลขที่ 1 บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีเป็นความปลาบปลื้มของเกษตรกรท่ายาง ที่ในหลวงท่านมาประทับ มาซื้อที่ดินและยังขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรของอำเภอท่ายางอีกด้วยนริศ บอกว่า ไปส่งมะนาวที่ตลาด คนในตลาดก็ดีใจ เหมือนเราได้มาในฐานะตัวแทนของไร่ในหลวง แม่ค้า...พ่อค้าหลายคนก็เข้ามาถาม ไปไกลไหม อยู่ตรงไหน อยากจะเข้ามาดู มาเห็นด้วยตาศรราม ต๋องาม สมาชิก อบต.กลัดหลวง เสริมว่า บ้านในหลวง เลขที่ 1 ในไร่ชั่งหัวมัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็คิดว่า...จะต้องปลูกเป็นรั้ว เป็นวังมีตึกใหญ่โต พอมาเห็นจริงๆ ก็เหมือนบ้านทั่วไป ไม่ต่างกับชาวสวนชาวไร่คนหนึ่ง"ชาวบ้านทุกคนคงรู้สึกไม่ต่างกับผม โครงการชั่งหัวมัน เหมือนทำให้พ่อของแผ่นดิน บุกมาหาลูกในดง...ในป่า แน่นอนว่าลูกก็ปลาบปลื้มใจ จะพยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้พ่อมีพระเกษมสำราญ มีความสุข".
วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น